https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพกลุ่มอาชีพนักทรัพยากรมนุษย์ ของประเทศสิงคโปร์
กลับš
การกำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพกลุ่มอาชีพนักทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสิงคโปร์ดำเนินการโดยสถาบันทรัพยากรมนุษย์แห่งสิงคโปร์ หรือ Singapore Human Resource Institute – SHRI ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1965 มีสถานะเป็นองค์การไม่แสวงกำไรซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษามาตรฐานระดับสูงของความเป็นมืออาชีพในด้านการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์กว่า 3,000 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 750,000 คน ในสิงคโปร์

ตลอดเวลากว่า 40 ปี SHRI จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างครบวงจร อาทิ การกำหนดมาตรฐานการปฎิบัติงานของอาชีพ HR การจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนา การประชุมเพื่อหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย แสวงหานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาวิชาชีพด้านทรัพยากรมนุษย์ SHRI มีหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรมที่ตอบสนองต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้าน HR เพื่อตอบสนองในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยหน่วยงานภายใต้ชื่อ SHRI Academy Pte Ltd ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ SHRI มีภารกิจสำคัญในการจัดอบรมที่มีเป้าหมายการเรียนรู้และพัฒนาความต้องการที่หลากหลายของผู้เข้ารับการอบรม โดยให้บริการกับผู้ต้องการเข้ารับการอบรมทั้งในและต่างประเทศ ด้วยโปรแกรมที่หลายหลายตั้งแต่ระดับใบรับรองขั้นพื้นฐานถึงระดับปริญญาโท โดยแยกเป็นหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการทุนมนุษย์ (The SHRI School of Human Capital Management) และ โรงเรียนการบริการทางการเงินและการบริหารความเสี่ยง(The SHRI School of Financial Services & Risk Management) โดยทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยพันธมิตร อาทิ Edinburgh Napier University (UK) ระยะเวลาของโปรแกรมการอบรมของ SHRI มีตั้งแต่ช่วง 3 เดือนถึง 24 เดือน
หลักสูตรของ SHRI Academy Pte Ltd ประกอบด้วย หลักสูตรระดับ Postgraduate Diploma in Human Capital Management หลักสูตร Human Capital Management Programmes ซึ่งแบ่งเป็นระดับ Basic Certificate ,Certificate และDiploma ในสาขาBusiness and Human Resource Management โดยเป็นรูปแบบการศึกษาแบบไม่เต็มเวลา(Part-time) สำหรับหลักสูตรที่ SHRI Academy ร่วมกับ Edinburgh Napier University (ENU) ประกอบด้วยปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตในสาขา Human Resource Management with Organisational Psychology , Human Resource Management with Financial Management และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตในสาขา Human Resources รวมถึงหลักสูตร Compensation and Benefits Management และหลักสูตร Psychology and Counselling ที่มีทั้งระดับ Certificate และ Diploma

ภารกิจสำคัญของ SHRI ยังรวมไปถึงการรับรองขั้นสูงและการให้บริการอบรมให้กับองค์การขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารOCBC และ NTUC Fair price Co-operative Ltd เป็นต้น ผลงานในระดับสากลของ SHRI ที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคมปี 2006 SHRI ได้เป็นเจ้าภาพ งาน 11th World Congress ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านทรัพยากรบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศที่เคยจัดขึ้นในเอเชียแปซิฟิกและสิงคโปร์
SHRI มีวิสัยทัศน์ (Vision) คือ “To be the leading HR authority in Singapore to champion human capital excellence” หรือ การเป็นผู้นำด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในสิงคโปร์และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำความเป็นเลิศด้านทุนมนุษย์ และมีพันธกิจ (Mission) คือ “We commit to advocate HR best practices, connect a community of HR professionals and enhance the HR profession.” หรือ การมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เชื่อมต่อให้เกิดชุมชนของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างอาชีพด้านทรัพยากรมนุษย์
ส่วนภารกิจในด้านการรับรองมาตรฐานวิชาชีพการบริหารทรัพยกรมนุษย์ของ SHRI มีแนวนโยบายตามข้อกำหนดใน Singapore HR Accreditation Framework ซึ่งจะได้นำเสนอรายละเอียดในหัวข้อต่อไปดังนี้

กรอบแนวคิดการให้ใบอนุญาตมาตรฐานวิชาชีพการบริหารทรัพยกรมนุษย์ของ SHRI
(Singapore HR Accreditation Framework)
ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของ SHRI คือการให้ใบอนุญาตมาตรฐานวิชาชีพการบริหารทรัพยกรมนุษย์ ภายใต้กรอบแนวคิดที่ตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การและเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า โดยที่ในปัจจุบันการบริหารทรัพยากรมนุษย์ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ในส่วนการสนับสนุนองค์การเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทสำคัญที่จะจัดสรรและประยุกต์ใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญเพื่อตอบสนองให้เกิดประสิทธิภาพต่อองค์การในสภาวะแวดล้อมที่การแข่งขันทางธุรกิจมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ความเป็นมืออาชีพของฝ่ายงานงานทรัพยากรบุคคลจึงเป็นสื่งสำคัญเป็นอย่างมากที่จะสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์การ ดังนั้นตามกรอบแนวคิดนี้ SHRI จึงตระหนักว่า อาชีพด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านการรับรองมาตรฐานเพื่อเพิ่มการรับรู้และการยอมรับขึ้น SHRI จึงมีความคิดริเริ่มในการวัดมาตรฐานการรับรองผู้ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรมนุษย์ขึ้นเพื่อยกระดับวิชาชีพ
โดยเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ.2003 SHRI เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับการรับรองของมาตรฐานวิชาชีพ HR ในสิงคโปร์ โดยมีการศึกษาการรับรองมาตรฐานวิชาชีพในประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับกรอบแนวคิดของ World Federation of Personnel Management Associations (WFPMA) ร่วมด้วย นอกเหนือไปจากนั้น SHRI ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานฝ่ายทรัพยากรมนุษ์และมุมมองของหัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุดขององค์การ (Chief Executive Officer-CEO) ในประเด็นความเห็นเกี่ยวกับสมรรถนะและความสามารถในการปฏิบัติงานด้าน HR ที่สำคัญต่ออาชีพ HR ในสิงคโปร์ จากการศึกษาครั้งนี้ SHRI ได้พัฒนาแบบจำลองการรับรองมาตรฐานผู้ปฎิบัติงานด้านทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า Singapore model of accrediting HR practitioners ซึ่งเป็นการผสมผสานการปฏิบัติงานด้าน HR ที่ดีตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานที่พึงประสงค์ของสิงคโปร์ไว้ด้วยกันโดยพัฒนามาเป็น Singapore HR Accreditation Framework ในที่สุด
การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของ SHRI ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน โดยเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆดังนี้
ประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมด้านทรัพยากรมนุษย์ การับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของ SHRI ทำให้สิงคโปร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมทุนมนุษย์ ก่อให้เกิดการผลักดันบทบาทสำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติ และส่งเสริมให้การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ส่งผลต่อศักยภาพการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์
ประโยชน์สำหรับองค์การธุรกิจและนายจ้าง ทำให้องค์การมีความสามารถในการสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครเข้ามาเป็นพนักงานในตำแหน่งด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนทำให้การตัดสินใจเลือกบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์และบริษัทที่ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยในการเปรียบเทียบเมื่อมีการพัฒนาและการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้บริหารหรือกรรมการ ตลอดจนทำให้ทราบช่องว่างระหว่างความสามารถในการปฏิบัติ และ ความต้องการของ CEO
ประโยชน์ต่อผู้ที่ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นการยกมาตรฐานของผู้ปฏิบัติงานทรัพยากรบุคคล เพิ่มความเป็นมืออาชีพและการยอมรับที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเศรษฐกิจการพัฒนา และสอดคล้องกับทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลในสิงคโปร์ ช่วยให้ทรัพยากรบุคคลมืออาชีพสามารถตรวจสอบความสามารถของตนเองเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานของตนเองและสามารถพัฒนาความสามารถอันจะเป็นผลดีต่อการจ้างงานในอนาคต
ประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน HR โดย Singapore HR Accreditation Framework ช่วยให้มหาวิทยาลัยรวมทั้งสถาบันการฝึกอบรม สามารถนำกรอบความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพ HR ไปใช้ในการอ้างอิงเมื่อมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและโปรแกรมต่างๆ เป็นการช่วยเพิ่มมาตรฐานของคุณสมบัติทรัพยากรบุคคลในสิงคโปร์อีกทางหนึ่ง
รายละเอียดและกระบวนการในการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวิฒิวิชาชีพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการรับรอง โดย SHRI มีรายละเอียดและกระบวนการดังจะนำเสนอในหัวข้อต่อไปนี้ ประกอบด้วย รายละอียดการกำหนดระดับคุณวุฒิ รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ และ กระบวนการในการขอรับการทดสอบเพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ

รายละเอียดการกำหนดระดับคุณวุฒิ
สถานะของการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ HR โดย SHRI เป็นการให้การรับรองโดยคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ HR (The HR Accreditation Board) ซึ่งแบ่งประเภทของการรับรองออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

ภาพ แสดงระดับการกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพนักทรัพยากรมนุษย์ ของ SHRI

1) ผู้ช่วยด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Associate –HRA ) เป็นการรับรองมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายงานการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การ ที่มีความสามารถและความรู้ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ การดำเนินกิจกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลในระดับไม่ซับซ้อน (simple activities) หรือ เป็นผู้ที่มีบทบาทต่อกิจกรรมที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ (specialised activities) รวมถึงมีบทบาทในการเลือกกระบวนการและกิจกรรมด้าน HR ขององค์การ
คุณสมบัติของผู้สมัครรับการประเมินระดับ HRA ประกอบด้วยผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง HR Assistant / HR Executive / HR Officer และมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วไม่มีน้อยกว่า 2 ปีหรืออาจจะเป็นบัณฑิตจบใหม่ที่มีความรู้การบริหารทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอและได้รัอนุญาตจาก SHRI ให้สามารถเข้ารับการประเมินได้
2) นักทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพ (Human Resource Professional -HRP) เป็นการรับรองมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ที่เป็นผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญในการทำงานทรัพยากรบุคคลขององค์การ โดยเป็นผู้ที่มีความสามารถและความรู้ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ การดำเนินกิจกรรมที่ซับซ้อน (complex activities)ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือ สามารถดำเนินกิจกรรมพิเศษและซับซ้อน (specialised and complex activities) ในกระบวนการคัดเลือกทรัพยากรบุคคลขององค์การ
คุณสมบัติของผู้สมัครรับการประเมินระดับ HRP คือ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลระดับ HR Executive หรือ HR Manager ที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 10 ปี
3) นักทรัพยากรมนุษย์ระดับอาวุโส (Senior Human Resource Professional -SHRP) เป็นการรับรองมาตรฐานวิชาชีพสำหรับนักทรัพยากรมนุษย์ระดับอาวุโสในองค์การ โดยเป็นผู้ที่มีความสามารถและความรู้ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ มีหน้าที่ในการกำหนดกิจกรรมที่เป็นกลยุทธด้าน HR (strategic activities) หรือ เป็นผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดและเลือกใช้กิจกรรมพิเศษและซับซ้อนในเชิงกลยุทธ (specialised and strategic activities)
คุณสมบัติของผู้สมัครรับการประเมินระดับ SHRP คือผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลระดับ HR Manager, Senior HR Manager or Director ที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 10 ปี


ค่าธรรมเนียมในการขอรับการประเมินมาตรฐานคุณวุฒินักทรัพยากรมนุษย์ของ SHRI
ประเภทค่าธรรมเนียม ระดับการประเมิน
HRA HRP SHRP
สมาชิกของ SHRI S$ 100
บุคคลทั่วไป S$ 200
นักศึกษาระดับปริญาตรีขึ้นไป S$ 50
การประเมินเพื่อยกระดับ S$ 100
การถอนใบประกอบวิชาชีพ S$ 150

ตาราง แสดงค่าธรรมเนียมในการขอรับการประเมินมาตรฐานคุณวุฒินักทรัพยากรมนุษย์ของ SHRI
ที่มา http://www.shri.org.sg/_hr_accreditation_p3.asp

การแบ่งระดับสมรรถนะของนักทรัพยากรบุคคลมืออาชีพภายใต้ Singapore HR Accreditation Framework สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับขีดความสามารถดังนี้

ระดับพื้นฐาน (Basic Competence) ประกอบด้วยสมรรถนะย่อย 3 ประการ คือ
1) มีความรู้ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์พื้นฐานเป็นอย่างดี อาทิ มีความรู้ในเรื่องการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์การได
2) สามารถอธิบายองค์ประกอบหลักของการบริหารทรัพยากรบุคคลได้
3) สามารถประยุกต์ใช้ทักษะพื้นฐานด้านทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ภายใต้การดูแลในหน้าที่ของตนได้
ระดับกลาง (Intermediate Competence) ประกอบด้วยสมรรถนะย่อย 4 ประการ คือ
1) สามารถนำนโนบายด้านทรัพยากรบุคคลมาสู่การปฏิบัติโดยการวางแผนและการดำเนินงาน
2) สามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในหลายสถานการณ์
3) สามารถดำเนินแผนปฏิบัติการให้ส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อธุรกิจภายใต้กฏหมาย นโยบายและแนวทางการปฏิบัติการ
4) สามารถให้ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้รับและการปรับปรุงที่จำเป็นต่อองค์การได้

ระดับสูง (Advance Competence) ประกอบด้วยสมรรถนะย่อย 4 ประการ คือ
1) สามารถประเมินและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญได้
2) สามารถพัฒนาวิธีการใหม่สำหรับการจัดการปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลได้
3) สามารถให้คำแนะนำและนำทีมงานตลอดจนองค์กรไปสู่การตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ได้
4) ความเป็นผู้นำในประเด็นด้านทรัพยากรมนุษย์และสนับสนุนให้เกิดการบริหารทรัพยากรมนุษย์เชิงรุกในองค์กร

รายละเอียดของหน่วยสมรรถนะ
กรอบสมรรถนะ (The Competency Framework)
กรอบสมรรถนะที่กำหนดขึ้นประกอบด้วย ทัศนคติ ทักษะ ความรู้ ของผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศ อาทิ ความสามารถที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งเป็นสมรรถนะสำหรับมืออาชีพด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์มีทั้งสิ้น 4 ประการ ดังนี้


ภาพ แสดงกรอบสมรรถนะของการสอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนักทรัพยากรมนุษย์ของ SHRI

1) คุณสมบัติหลัก (Core Attributes)
ประกอบด้วยคุณลักษณะพื้นฐาน เช่น ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการทนต่อความกำกวมและความเครียด ที่เกิดจากการปฏิบัติงานในฐานะนักทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพ
2) ความเป็นพันธมิตรด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic Business Partner)
สมรรถนะนี้กำหนดทักษะที่ช่วยให้นักทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพแสดงบทบาทเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ โดยจะวัดว่าผู้ปฏิบัติงานมีความเฉียบแหลมทางธุรกิจและมีมุมมองทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์หรือไม่
3) ทักษะในการจัดการทรัพยากรบุคคล (Managerial and People Management)
สมรรถนะนี้จะกำหนดลักษณะและความสามารถที่ผู้ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลมืออาชีพต้องมี ประกอบด้วย ความพร้อมที่จะจัดการคนหรือพนักงานและจัดให้เกิดการทำงานเป็นทีม รวมถึงการสอนงาน(coaching) การให้คำปรึกษา(consulting)และการประเมินผลการปฏิบัติงาน (performance evaluation)
4) สมรรถนะด้านการทำงาน / เทคนิค (Functional/Technical)
ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยการใช้นโยบายด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการปฏิบัติ และการให้คำแนะนำ สมรรถนะเหล่านี้เป็นสิ่งกำหนดลักษณะการทำงานและเทคนิคพิเศษและความสามารถที่ผู้มีบทบาทด้าน HR ต้องมี
กรอบสมรรถนะ คุณลักษณะ
คุณสมบัติหลัก มีความสามารถในการสื่อสาร
มีความสามารถในการทนต่อความกำกวมและความเครียดในการทำงาน
ความเป็นพันธมิตรด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ สามารถแสดงบทบาทเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์
ทักษะในการจัดการทรัพยากรบุคคล ความพร้อมที่จะจัดการคนหรือพนักงานและจัดให้เกิดการทำงานเป็นทีม สามารถ สอนงาน(coaching) ให้คำปรึกษา(consulting)และประเมินผลการปฏิบัติงาน (performance evaluation)ได้
สมรรถนะด้านการทำงาน / เทคนิค สามารถแปลงนโยบายด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์มาสู่การปฏิบัติได้
ตาราง แสดงคุณลักษณะของแต่ละกรอบสมรรถนะในการสอบคุณวุฒิวิชาชีพนักทรัพยากรมนุษย์ของ SHRI


กระบวนการในการขอรับการทดสอบเพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักบริหารทรัพยากรบุคคลของสถาบัน SHRI
กรอบการประเมินผล (The Assessment Framework)
การรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในสิงคโปร์ จะต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ ว่าผู้เข้ารับการประเมินมีการพัฒนาที่เหมาะสม โดยการดำเนินงานและการประเมินผลเป็นหน้าที่ของ HR Accreditation Scheme ประกอบไปด้วย
1) คณะกรรมการรับรอง (The HR Accreditation Board)
2) คณะกรรมการประเมิน (The HR Accreditation Assessment Panel)
3) คณะกรรมการประเมินด้านจริยธรรม (The HR Accreditation Ethics & Appeal Panel)
4) สำนักงานเลขาธิการด้านการรับรองคุณวุฒิ (HR Accreditation Secretariat – SHRI)
ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จาก คณะผู้บริหารของSHRI (SHRI Executive Council) คณะกรรมการตามกฎหมาย (Ministry/Statutory Board) ตัวแทนจากประชาคมภาคธุรกิจ (Business Community) ตัวแทนจากประชาคมด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HR Community)
บทบาทของคณะกรรมการ HR Accreditation Scheme
คณะกรรมการรับรอง
(Board)
คณะกรรมการประเมิน (Assessment Panel)
คณะกรรมการประเมิน
ด้านจริยธรรม
(Ethics & Appeal Panel)
ให้การรับรองสถานะของผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขอต่ออายุใบประกอบวิชาชีพซึ่งต้องต่ออายุทุก 3 ปีและมีหน้าที่แสดงความคิดเห็นประจำปีเกี่ยวกับการรับรองบุคคล ประเมินใบสมัครของผู้ขอเข้ารับการประเมิน สัมภาษณ์ผู้สมัคร
และตรวจสอบและให้คำแนะนำผู้สมัครเพื่อส่งผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาในลำดับต่อไปโดย คณะกรรมการรับรอง (The HR Accreditation Board) เพื่อตรวจสอบข้อเสนอแนะที่ได้รับการร้องเรียน ให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อการรับรองบุคคลต่อสำนักเลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการรับรอง (The HR Accreditation Board)

สำนักงานเลขาธิการด้านการรับรองคุณวุฒิ (HR Accreditation Secretariat – SHRI)
มีหน้าที่ในการเสนอแต่งตั้ง การต่ออายุ และการรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ เก็บบันทึกฐานข้อมูลของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทำหน้าที่ด้านการบริหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการรับรองคุณวุฒิทรัพยากรบุคคล
(การอุทธรณ์ร้องเรียน การติดต่อผู้เกี่ยวข้อง การสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมของ HR Accreditation)

แผนภาพ แสดงบทบาทของ HR Accreditation Scheme




กระบวนการขอรับการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของ SHRI


หมายเหตุ การรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของ SHRI มีระยะกำหนดเวลา 3 ปี ผู้ที่ต้องการต่อใบอายุใบรับรองต้องดำเนินการผ่าน สำนักงานเลขาธิการด้านการรับรองคุณวุฒิ (HR Accreditation Secretariat – SHRI)
แผนภาพ แสดงกระบวนการขอรับการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของ SHRI